![]() |
พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิด เศรษฐบุตร) เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายชื่น และนางทิพย์ เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2415 ที่บ้านปลายสะพานวัดบพิตรพิมุข ปากคลองโอ่งอ่าง จังหวัดพระนคร ท่านเป็นลูกสาวคนกลาง มีพี่ชาย 1 คน คือ มหาอำมาตย์โท พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) และน้องสาว 1 คน ชื่อ ละม่อม เนื่องจากบิดาค่อนข้างเชื่อถือในโชคลาง และไสยศาสตร์ต้องการให้บุตรชายได้เป็นใหญ่เป็นโต จึงตั้งชื่อให้เป็นมงคลว่า "เลิดมันเตา" ซึ่งมี ความหมายว่า "เป็นเลิศเหนือผู้อื่น"
เมื่อมีอายุได้พอสมควร บิดาได้ส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนอนันต์ ท่านเรียนอยู่โรงเรียนนี้ 5 ปี จึงได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนสุนันทาลัย จนจบหลักสูตรเมื่ออายุ 16 ปี นับว่าท่านได้รับการศึกษาอย่างดี มีความรู้ทางภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษท่านรู้จริงในขั้นใช้การได้ทีเดียว
![]() |
![]() |
ในตอนกลางสมัยรัชกาลที่ 5 ค่านิยมของคนไทยส่วนใหญ่ยกย่องข้าราชการ ดังมีคำกล่าวว่า "สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง" แต่ความใฝ่ฝันของนายเลิด แตกต่างไปจากคนสมัยเดียวกัน ท่านมีความฝันจะเป็น "นายห้าง" แทนที่จะเป็นข้าราชการ ดังนั้นเมื่อจบการศึกษาท่านจึงสมัครเข้าทำงานเป็นเสมียนฝึกหัดที่ห้างสี่ตา (ห้างวินเซอร์) ยอมทำงานทุกอย่างโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งนี้เพื่อเรียนรู้ การทำงานทุกขั้นตอน ดังคติประจำใจของท่านที่ว่า "ไม่เคยเป็นลูกจ้าง จะเป็น นายห้างง่ายๆ นั้นเป็นไปไม่ได้"
หลังจากอดทนทำงานมา 1 ปี ด้วยหวังว่านายจ้างคงเห็นความดีและ ตอบแทนค่าจ้างให้อย่างเหมาะสม แต่แล้วก็ไม่เป็นผล นายเลิดจึงลาออกจากห้าง สี่ตาและสมัครเข้าทำงานที่โรงภาษี ที่นี่ท่านไม่ได้รับค่าตอบแทนตามเคย ท่านทำงานนี่อยู่ 8 เดือน จึงลาออกอีกครั้ง และเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนสุนันทาลัย ทั้งที่ไม่ได้ชอบอาชีพครูนัก คราวนี้ท่านได้รับเงินเดือนเป็นครั้งแรก เดือนละ 20 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีพอสมควรสำหรับสมัยนั้น พร้อมกันนั้นท่านยังได้ใช้เวลาว่างตอนเย็นรับจ้างสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ คิดค่าสอนชั่วโมงละ 1 บาท นับเป็นรายได้ที่ดีพอสมควร
![]() |
![]() |
นายเลิดรับราชการครูได้ประมาณ 1 ปี หนทางเข้าสู่วงการค้าของท่านได้เริ่มมีเค้าขึ้น คือ ท่านได้ลาออกจากครูและเข้าทำงานเป็นเสมียนในแผนกจำหน่ายโซดาและน้ำหวาน ในห้างสิงห์โปร์สเตท (ห้างนี้ คือ บริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ในปัจจุบัน) ตามคำชักชวนของ แหม่มแม็คฟาร์แลนด์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า แม็คฟ้าลั่น มิชชันนารีชาวอเมริกา ได้รับเงินเดือนๆ ละ 25 บาท และด้วยเหตุที่ท่านสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งมีความตั้งใจในการทำงาน ทำให้ท่านมีตำแหน่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนได้ถือหุ้นในบริษัทด้วย กิจการของบริษัทดำเนินไปได้ด้วยดี จากเงินเดือน 25 บาท เพียงไม่กี่ปีต่อมา ท่านมีรายได้เดือนละ 1,000-1,500 บาท ซึ่งในสมัยนั้นนับว่ามาก
ด้วยความมานะอุตสาหะ ทุ่มเทกำลังความคิดศึกษางานรอบด้านอย่างจริงจัง นายเลิดก็บรรลุความหวังตั้งแต่เยาว์วัยที่จะเป็น "นายห้าง" ด้วยวัยเพียง 22 ปี ท่านสามารถรวบรวมทุนเปิด "ห้างนายเลิด" ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2437 จำหน่ายจักรเย็บผ้า ซิงเกอร์ เครื่องกระป๋องและสินค้า ต่างประเทศ และเริ่มขยายกิจการมาขาย น้ำโซดา ที่เรียกกันว่า "น้ำมะเน็ด" ร่วมกับบริษัทบอร์เนียว ซึ่งขายดีมาก ท่านจึงคิดจะแยกตัวมาทำการค้าโซดาและน้ำมะเน็ดเพียงผู้เดียว แต่ทางบริษัทบอร์เนียว ผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ยอม ท่านจึงเลิกกิจการและ หันมาจำหน่ายน้ำมันมะพร้าว และหนังสือ ต่างประเทศ พอมีเงินทุนมากขึ้นท่านก็เริ่มค้าสังกะสีแต่ก็โชคร้ายขาดทุน ต่อมาท่านสั่งจักรยานเข้ามาขายแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอีกตามเคย
![]() |
นายเลิด มีนิสัยเป็นพ่อค้าเต็มตัวมีไหวพริบเชิงการค้า แม้ว่าจะประสบปัญหาใหญ่หลวงจนเกือบล้มละลาย ท่านก็มิได้ย่อท้อ ท่านถือคติที่ว่า "ไม่กังวลต่อสิ่งที่แล้วไป" ท่านจึงต่อสู้ต่อไปด้วยการริเริ่มกิจการโรงแรมขึ้นที่บริเวณสะพาน เหล็กล่าง นับเป็นคนไทยคนแรกที่เปิดกิจการโรงแรมขึ้นมา กิจการนี้ให้ผลดีแก่ นายเลิด มากว่า 10 ปี
สมัยรัชกาลที่ 4 น้ำแข็งเป็นของหายาก ต้องนำเข้ามาจากสิงคโปร์กับ เรือกลไฟ ชื่อ "เจ้าพระยา" ผู้มีสิทธิ์จะได้ลิ้มรสน้ำแข็งมีเฉพาะคนในวังเท่านั้น โดยได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คนได้ชิมจะ ตื่นเต้นมากพากันโจษขานกันว่า นายเลิด "ปั้นน้ำเป็นตัว" ซึ่งมิใช่เป็นการว่ากล่าว แต่เป็นการนำสำนวนไทยมาทำให้เป็นเรื่องขัน ในช่วงแรกของการตั้งโรงน้ำแข็งนายเลิดต้องประสบปัญหามากมาย แต่ด้วยไหวพริบและสติปัญญาท่านก็สามารถ ฝ่าฝันอุปสรรจนกิจการเจริญก้าวกน้าขึ้นมาได้ และด้วยเหตุที่มีโรงน้ำแข็งเกิดขึ้น คุณหญิงสิน ภรรยาของท่านได้เริ่มการค้าอาหารที่เกี่ยวกับน้ำแข็งขึ้น เช่น ผลไม้ แช่เย็น น้ำแข็งกด ในสมัยนั้นถ้าใครผ่านไปย่านถนนสี่พระยาและเจริญกรุงต่างก็ต้องแวะซื้อน้ำ แข็งกดของนายเลิดกินกันทั้งนั้น
กิจการอีกประเภทหนึ่งที่ท่านริเริ่มขึ้นมา คือ บริการรถม้าเช่า ซึ่งท่านออกแบบตัวรถเอง ใครจะเช่าไปไหนๆ ก็ได้ ค้าโดยสารถ้าเป็นรถม้าเดี่ยวชั่วโมงละ 75 สตางค์ รถม้าคู่ชั่วโมงละ 1 บาท กิจการนี้ไปได้ด้วยดี แต่นายเลิดไม่ใคร่พอใจนักเพราะท่านเห็นว่าเป็นการทรมานสัตว์
![]() |
ในสมัยรัชการที่ 5 เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ได้นำรถยนต์เข้ามาในเมืองไทยเป็นคันแรก หลังจากนั้นบรรดาเจ้านายทั้งหลายได้สั่งรถยนต์ จากต่างประเทศเข้ามาใช้มากขึ้นเป็นลำดับผู้คนจึงหันมาใช้มากขึ้นเป็นลำดับ ผู้คนจึงหันมาใช้รถยนต์แทนรถม้าหรือรถลากที่มีอยู่เดิมนายเลิดจึงได้สั่งรถ ยนต์เข้าและเปลี่ยนรถม้าเช่าเป็นรถยนต์เพื่อให้คนธรรมดาสามัญได้นั่งรถยนต์ บ้างต่อมาเมื่อ บ้านเมืองขยายตัวผู้คนมากขึ้นนายเลิดจึงริเริ่มกิจการรถเมล์ขึ้น
เมื่อถนนหนทางเจริญขึ้นจึงมีการจัดระบบการขับขี่รถยนต์ โดยราชการที่ 5 ทรงตราพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับแรกขึ้น เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2452
รถเมล์สายแรกของนายเลิด วิ่งจากประตูน้ำไปสี่พระยาและขยายออกไป อีกหลายสายจนเกือบทั่วกรุงเทพมหานคร คนทั่วไปเรียกรถของท่านว่า "รถเมล์ขาว" ตามสีของรถ กิจการนี้สร้างชื่อเสียงให้ท่านมาก ท่านวางนโยบายในการ เดินรถว่า "สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย บริการผู้มีรายได้น้อย" "รถเมล์ขาว" จึง เป็นที่ประทับใจของคนทั่วไป
![]() |
กิจการรถเมล์ขาวของ นายเลิด จำกัด ดำเนินการมานานถึง 70 ปี ได้รับสัมปทานเดินรถประจำทางในกรุงเทพฯ ถึง 36 สาย มีรถประมาณ 700 คัน มีพนักงาน 3,500 คน นับเป็นบริษัทรถเมล์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ในที่สุดบริษัทก็ต้องเลิกกิจการเมื่อ พ.ศ. 2520 เพราะรัฐบาลรวมกิจการรถเมล์ทุกสายในกรุงเทพมหานครมาเป็นกิจการของรัฐในนาม องค์การขนส่งมวลชน
ควบคู่ไปกับกิจการคมนาคมทางบก นายเลิดได้บุกเบิกกิจการคมนาคมทางน้ำด้วยเช่นกัน ท่านเปิดกิจการเรือเช่าสำหรับท่องเที่ยวทางน้ำ พร้อมบริการเรือเมล์ที่ชาวบ้านเรียก "เรือขาว" รับส่งผู้โดยสารตามลำคลองแสนแสบ ผ่านหนองจอก มีนบุรี แล้วมาสุดทางที่ประตูน้ำ เชื่อมโยงกับเส้นทางของรถเมล์ขาว ชาวกรุงเทพและเมืองตะวันออกจึงได้ใช้บริการคมนาคมนี้อย่างสะดวก
นอกเหนือจากธุรกิจเหล่านี้แล้ว ท่านยังจัดสรรที่ดินอีกด้วย สิ่งที่ทำให้ธุรกิจของท่านเจริญก้าวหน้า คือ ทุนซึ่งใช้ไม่รู้จักหมด ทุนนี้มิใช้ตัวเงิน แต่เป็นเงินอันประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต ความพากเพียร อดทน อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของท่าน
นอกจากคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการค้าแล้ว นายเลิดยังมีคุณลักษณะที่ น่ายกย่องอีกหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ท่านสร้าง "ปาร์คนายเลิด" ขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนไทยในสมัยนั้น ท่านสร้างสนามและปลูกต้นไม้ไว้มามายเพื่อให้เด็กๆ ได้มาเที่ยวเล่น ลูกเสือก็ได้ใช้เป็นที่ผักแรม ใช้สนามเป็นที่ฝึกใช้ระเบียงบ้านเป็นที่นอน และยังได้กระโดดน้ำ ในสระอย่างสนุกสนานอีกด้วย แม้จะดูสับสนวุ่นวายบางท่านก็พอใจ เพราะ ท่านเองก็ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี้ด้วย
นายเลิดเป็นคนรักการอ่าน ความเป็นคนรักการอ่านของท่าน ทำให้ท่านเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ชอบคิดค้นสิ่งต่างๆ และริเริ่มสร้างใหม่ๆ เช่น กิจการ รถเมล์ ก็เป็นความคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือ ท่านสามารถต่อตัวถังรถเมล์ได้โดยไม่ต้องเรียนจบวิศวะหรือสถาปัตย์ ท่านสั่งซื้อเครื่องยนต์มาจากประเทศอังกฤษ แล้วเขียนแบบแปลตัวถังด้วยชอล์กบนพื้นปูน จากนั้นให้ช่างไม้ชาวเซี่ยงไฮ้เป็น คนต่อ เราอาจกล่าวได้ว่า ความคิดต่างๆ ของท่านในการทำธุรกิจ และในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ล้วนได้อิทธิพลมาจากการอ่านทั้งสิ้น
นอกจากเป็นคนที่รักการอ่านหนังสือมากแล้ว ท่านยังรักที่จะให้คนอื่นได้ศึกษาเล่าเรียนด้วย ท่านชอบแล่นเรือเที่ยวตามคลองแสนแสบ ชาวนา ชาวสวน แถวนั้นรู้จักท่านดี ชาวบ้านมักเอาลูกหลานมาฝากให้อยู่กับท่านเพื่อเรียนหนังสือ ท่านจะไม่เคยปฏิเสธ ท่านพูดเสมอว่า "หนังสือทำให้คนฉลาด"
การสนับสนุนให้เด็กๆ ได้รับการศึกษา ที่ท่านได้ทำเป็นรูปธรรมขึ้นมา คือ การสร้างโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญขึ้นที่มีนบุรี บริเวณริมคลองแสนแสบ ต่อมาทางราชการได้ดำริให้แยกโรงเรียนเป็นหญิงและชาย ตอนนั้นนายเลิดถึงแก่ อนิจกรรมแล้ว คุณหญิงสินภรรยาของท่านได้สืบทอดเจตนารมย์ของท่านโดยซื้อ ที่ดินและบริจาคเงินสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ขึ้นบริเวณถนนรามอินทรา คือ ที่ตั้ง โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ยปัจจุบันนี้ โดยให้ที่เดิมเป็นโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
ในปี พ.ศ. 2468 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ นายเลิดได้ช่วยเหลือชาวนาในการอพยพควายให้พ้นจาการจมน้ำตาย ความดีงามในครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ที่ท่านได้ทำมาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่ หัว เป็น "พระยาภักดีนรเศรษฐ"
![]() |
นายเลิดถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2488 สิริอายุ 74 ปี
ถึงวันนี้ แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว แต่คุณค่าของท่านยังปรากฏเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลังตลอดไป